จบปัญหาออฟฟิศซินโดรมด้วยเก้าอี้ทำงานเพื่อสุขภาพ

คนทำงานออฟฟิศจำนวนไม่น้อย ต้องเผชิญกับอาการปวดตึงบริเวณ คอ บ่า ไหล่ มาเป็นเวลานาน แรก ๆ ก็อาจแค่รู้สึกตึง ๆ เล็กน้อยพอรำคาญ แต่นานวันเข้ากลับปวดมากขึ้นจนกลายเป็นร้าวลึก นั่นเป็นเพราะอาการออฟฟิศซินโดรมที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกวิธี ลองสังเกตวิธีการนั่งทำงานของตัวเองดูว่า นั่งแบบผิดท่านาน ๆ หรือไม่ วิธีแก้ไขนอกจากการนั่งที่ถูกท่าแล้ว การมีเก้าอี้ทำงานสุขภาพ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ออฟฟิศซินโดรมบรรเทาจนหายได้

ออฟฟิศซินโดรมเป็นอาการปวดตึงกล้ามเนื้อบริเวณที่มีการใช้งานนาน ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการนั่งทำงานผิดท่าเป็นเวลานาน ทำให้เกิดอาการเกร็งแบบไม่รู้ตัว บริเวณ คอ บ่า ไหล่ สะบัก บางคนมีอาการมากจนปวดชาไปถึงบริเวณแขนและมือ 

ถามว่า ท่านั่งที่ผิดท่า เป็นแบบไหนบ้าง เช่น นั่งหลังค่อม ห่อไหล่ หรือการเอนพิงพนักโดยเว้นช่องว่างระหว่างสะโพกกับพนักพิง นั่นทำให้เกิดการเกร็งตั้งแต่ต้นคอ สะบัก และกระดูกสันหลังช่วงล่าง แน่นอนว่าการแก้ไขคือ ปรับมานั่งให้ถูกท่า เท้าทั้งสองข้างเหยียบพื้นแบบเสมอกัน นั่งหลังตรง คอไม่ยื่นไปข้างหน้า สายตาอยู่ระดับเดียวกับหน้าจอคอมพิวเตอร์ ไม่สูงหรือต่ำเกินไปจนทำให้เงยหน้าหรือก้มหน้าแบบไม่รู้ตัว การพิมพ์งาน แขนสองข้างควรอยู่ในระดับขนานกับข้อศอกพอดี ไม่ต่ำเกินไปหรือสูงเกินไปจนทำให้ต้องงอข้อศอก ข้อมือมาก ๆ 

อีกวิธีที่ช่วยได้ คือ การขยับลุกขึ้นมายืดกล้ามเนื้อบ่อย ๆ วิธีแก้เหล่านี้เข้าใจว่าหลายคนก็ทราบดี แต่บางคนก็นั่งแบบถูกท่าได้ไม่นาน เพราะรู้สึกว่าเป็นท่าที่ขัดธรรมชาติของตัวเอง สักพักก็กลับไปนั่งท่าสบายของตัวเองใหม่ หรือทำงานเพลินจนลืมลุกยืดกล้ามเนื้อ ดังนั้นวิธีหนึ่งที่น่าจะช่วยผ่อนแรงให้นั่งได้สบายขึ้นแบบถูกสรีระคือ การหาเก้าอี้ทำงานเพื่อสุขภาพดี ๆ สักตัว

เก้าอี้ทำงานเพื่อสุขภาพ คือ เก้าอี้แบบเออโกโนมิคส์ (Ergonomics) หรือเก้าอี้การยศาสตร์ที่ช่วยเสริมท่านั่งของเราให้ถูกต้อง และช่วยลดอาการปวดเมื่อยของกล้ามเนื้อ มีให้เลือกหลายแบบ หลายนวัตกรรม ไปจนถึงวัสดุที่ใช้ ความสวยงาม และราคาที่ควรสมเหตุสมผล ลองมาดูกันว่า เก้าอี้ทำงานเพื่อสุขภาพ Ergonomics ควรมีองค์ประกอบอะไรบ้าง

  • ดีไซน์โอบรับลำตัวขณะนั่ง 
  • ตอบสนองการใช้งานตามหลักการยศาสตร์ ด้วยระบบ Lumbar Support รองรับการเว้าของหลังส่วนล่าง 
  • รองรับระดับความลึกของที่นั่งเพื่อให้สมดุลกับสรีระ
  • ปรับความสูงต่ำของเก้าอี้ และความยืดหยุ่นของพนักพิงได้ 
  • มีระบบที่รองรับการปรับองศาการเอนของพนักพิง ทำให้ยืดเหยียดหลังได้อย่างผ่อนคลาย
  • ปรับที่เท้าแขนด้ถึง 4 ทิศทาง หรือ 360 องศา จะยิ่งดีมาก ทั้งบิดซ้าย-ขวา เลื่อนหน้า-หลังเพื่อให้พอดีกับการวางศอกทุกอริยาบถในการนั่ง

ลองแก้ไขปัญหาออฟฟิศซินโดรมตั้งแต่ต้นตอ คือ ท่านั่งที่ถูกต้อง ใช้เก้าอี้ทำงานเพื่อสุขภาพที่ช่วยรองรับสรีระการนั่งอย่างผ่อนคลาย และหมั่นลุกเดินเพื่อยืดกล้ามเนื้อ รับรองว่าคุณจะสามารถเสกสรรค์งานคุณภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ แถมยังมีสุขภาพที่ดีขึ้นอีกด้วย